หลังประสบความสำเร็จในการพัฒนา บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด จนกลายเป็นผู้ผลิตระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการบริหาร จึงได้จัดตั้ง บริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด เพื่อนำผลกำไรส่วนหนึ่งแบ่งปันกลับคืนสู่สังคม ต่อยอดให้กับบริษัท Startup ของคนรุ่นใหม่ และภาคสถาบันการศึกษาต่างๆ สร้างโอกาสให้เยาวชนไทยคนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้งานง่าย ราคาไม่สูง นำไปปฏิบัติเห็นผลจริง

บริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด หรือ “CiRA TECH” คือผู้พัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรม AI ด้วยการนำผลงานนวัตกรรมซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะระดับโลกจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. มาขยายผลและยกระดับภาคอุตสาหกรรม สร้างเป็นแพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทย ที่เรียกว่า “CiRA Core” ประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยทุกระดับตั้งแต่ SMEs ไปจนถึง StartUp และบริษัทระดับใหญ่ ได้เข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย ในราคาแค่หลักหมื่น

CiRA Core คือ เทคโนโลยี AI ด้าน Deep Learning หรือการเรียนรู้เชิงลึก เป็นเทคโนโลยีที่เลียนแบบเครือข่ายเซลล์ประสาทในสมองของมนุษย์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ จดจำ วิเคราะห์ แยกแยะ ตัดสินใจ ได้อย่างแม่นยำ เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การนำไปเชื่อมต่อกับเครื่องจักรเพื่อตรวจนับจำนวนสินค้า เช่น ในโรงงานผลิตท่อพีวีซี จากเดิมต้องมีพนักงานทำหน้าที่นับจำนวนท่อที่ผลิตหรือจัดส่ง เมื่อใช้แพลตฟอร์ม CiRA Core ก็สามารถนับสินค้าได้อย่างแม่นยำตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ สามารถโยกพนักงานไปทำงานสร้างสรรค์ที่ได้ประโยชน์มากกว่า หรือการนำไปเชื่อมต่อกับกล้อง CCTV เพื่อนับและวิเคราะห์จำนวนคนต่อพื้นที่ไม่ให้เกิดความหนาแน่นมากเกินไป ถ้ามีคนเกินจำนวน ระบบจะแสดงสัญญาณเตือนทันที แม้กระทั่งในภาคการเกษตร แพลตฟอร์ม CiRA Core ก็สามารถตั้งโปรแกรมคัดแยกคุณภาพผลไม้ได้อย่างแม่นยำ วิเคราะห์การดูแลรักษาหรือเก็บเกี่ยวในช่วงไหน อย่างไร

จึงไม่แปลกที่วันนี้ Cira Core ผลงานนวัตกรรมซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะจาก สจล. ที่ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดโดยบริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จะกลายเป็นนวัตกรรมยอดนิยมในภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว มีลูกค้าบริษัทชั้นนำต่างชาติมากมายใช้ซอฟต์แวร์ AI ปัญญาประดิษฐ์ของคนไทยนี้แล้ว อาทิ โตโยต้า, ฟอร์ด , ปูนซีเมนต์ไทย, ซีเกท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี คือการคืนกำไรกลับสู่สังคม แบ่งปันต่อยอดให้กับบริษัทเอสเอ็มอี Startup ของคนรุ่นใหม่ และภาคสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้เข้าถึงซอฟต์แวร์ระดับโลก พัฒนาฝีมือเพื่อทำงานกับอุตสาหกรรม 4.0 คุณกัลยาณีจึงเดินสายทำความตกลงกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1-2 มิถุนายน 2565 ได้เดินทางไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงนามบันทึกความตกลงกับ 3 หน่วยงานเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา และ ยกระดับฝีมือแรงงาน รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC) และ เขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตามยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Workforce) โดยจะนำแพลตฟอร์ม AI ปัญญาประดิษฐ์ “CiRA Core” มาใช้ในการอบรมนักศึกษาและภาคแรงงานต่อไป

โดยหน่วนงานแรกที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมมือกันพัฒนาบุคลากร การจัดการเรียนการสอน พัฒนานวัตกรรมและวิจัยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน AI การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนเครื่องมือการพัฒนานักศึกษา บุคลากร และคณาจารย์ ด้านหุ่นยนต์ และ ระบบอัตโนมัติ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ

รองศาสตราจารย์รัชพล สันติวรากร คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์รัชพล สันติวรากร คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนานักศึกษา เนื่องจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีพันธกิจสำคัญ 3 เรื่องคือ การสร้างบัณฑิต การสร้างองค์ความรู้ และ การสร้างสังคม การร่วมมือครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในแง่การพัฒนาบัณฑิต ให้มีโอกาสทางความรู้และประสบการณ์จริงในการทำงาน รวมถึงต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมและสตาร์ทอัพต่อไปในอนาคต

หน่วยงานถัดมาคือ การลงนามบันทึกความเข้าใจกับ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ (AMA) จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ดำเนินการฝึกอบรมแรงงานให้มีความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี ในมิติด้านการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์และการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม รองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

พรพจน์ คงสงค์ ผู้อำนวยการ AMA

พรพจน์ คงสงค์ ผู้อำนวยการ AMA กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้แรงงานในภาคอีสานโดยเฉพาะในขอนแก่นได้พัฒนาฝีมือเข้าสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งซีร่าคอร์มีบุคลากร วัสดุอุกรณ์ต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือสถาบันหลายด้าน ปัจจุบันอุตสาหกรรมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรที่ซีร่าคอร์มีเครื่องมือในการคำนวณรูปแบบของผลผลิตว่าควรดูแลรักษาหรือเก็บเกี่ยวในช่วงไหน อย่างไร สามารถนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีโปรแกรมใหม่ๆ ไปช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ พร้อมกับยกระดับฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพและรายได้สูงขึ้น

ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

อีกหนึ่งหน่วยงานที่ลงนามความร่วมมือคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดยที่ผ่านมาทีเคเคก็ได้ทำกิจกรรมร่วมกับมทร.อีสานมาโดยตลอด ส่งเสริม ต่อยอด พัฒนานักศึกษาให้ได้รับโอกาสความก้าวหน้าในระบบอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และออโตเมชั่น ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การร่วมมือครั้งนี้จะทำให้โอกาสของนักศึกษา มทร.อีสานมีความทัดเทียมกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงานกับบริษัททีเคเคและบริษัทในเครือ ก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคตและนำกลับมาถ่ายทอดให้กับน้องๆ รุ่นต่อไป เป็นการเปิดโลกให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพว่าเราไม่แพ้ใคร ทั้งในทักษะเชิงช่างและทักษะเชิงทฤษฎี โดยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในภาควิชาที่ผู้บริหารมทร.อีสานให้ความสำคัญอย่างมาก เมื่อได้เอกชนที่มีศักยภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาร่วมสนับสนุนจึงถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง ทำให้เราก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่า เนื่องจากบริษัทมีความเชี่ยวเชี่ยวด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ ระบบออโตเมชั่น แพลตฟอร์ม AI จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการศึกษาที่ต้องการสนับสนุนให้นักศึกษามีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีธุรกิจจำนวนมากต้องการบุคลากรด้านนี้ โดยบริษัทจะสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา รวมถึงการมอบทุนต่อยอดทางการศึกษา สนับสนุนให้เป็นสตาร์ทอัพ หรือ ผู้ประกอบการในอนาคต เพื่อสร้างบุคลากรให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน

“โดยส่วนตัวถือว่าการเปิดโอกาสนั้นสำคัญที่สุด ทุกคนอาจเกิดมาต่างฐานะ มีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน แต่โอกาสจะสร้างให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน การเซ็นเอ็มโอยูครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการใช้ CiRA Core สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับนักศึกษาได้ออกไปสู่โลกกว้างอย่างสง่างาม” คุณกัลยาณี กล่าวถึงความรู้สึก


ข่าวจาก salika.co