โลกอุตสาหกรรมได้ก้าวเข้าสู่ระบบอัตโนมัติเต็มตัว และนั่นคือโอกาสของบริษัทขนาดใหญ่ที่ปกติก็ได้เปรียบทั้งส่วนแบ่งการตลาด ปริมาณการผลิต ยิ่งได้ระบบอัตโนมัติเข้ามาสนับสนุน ต้นทุนยิ่งถูกลง เคยผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งราคา 100 บาทก็เหลือเพียง 60 บาท ลดลงไป 40% เมื่อต้นทุนลดลง อำนาจการต่อรองยิ่งมากขึ้น สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า หรือหากเป็นบริษัทรับจ้างผลิตก็สามารถยื่นข้อเสนอให้กับผู้ว่าจ้างในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งที่ยังไม่มีระบบออโตเมชั่น ทำให้มีการคาดหมายกันว่า หากบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ยังไม่สามารถปรับไลน์การผลิตมาสู่ระบบอัตโนมัติ ก็มีโอกาสที่จะต้องปิดตัวลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำหรับบริษัทเอสเอ็มอีในการปรับไลน์การผลิตมาเป็นระบบอัตโนมัติ ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายๆ เพราะต้องใช้เงินลงทุนด้านเครื่องจักร ยิ่งในยุคไวรัสโควิด-19 ระบาด เศรษฐกิจฝืดเคือง สินค้าขายได้น้อย แค่ประคับประคองให้บริษัทอยู่รอดได้ก็ลำบากแสนสาหัสแล้ว จะเอาทุนหลักสนหลักล้านจากไหนมาปรับปรุงระบบการผลิต หลายบริษัทเลยอยู่ในฐานะอิหลักอิเหลื่อ เดินหน้าลำบาก ถอยหลังไม่มีที่ไป ต้องกัดฟันเดินแบบเตี้ยอุ้มค่อมกันไปเรื่อยๆ แม้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ จะได้จัดมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้นำเครื่องจักรและหุ่นยนต์มาใช้ในระบบการผลิต ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี แต่สำหรับบริษัทเล็กๆที่ยังมีทุนรอนจำกัดก็ยังก้าวข้ามลำบาก
จนเมื่อต้นเดือนมิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสติดตามทีมงาน บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TKK Corporation Co.,Ltd.) ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน AI การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนเครื่องมือการพัฒนานักศึกษา บุคลากร และคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้รู้จักแพลตฟอร์ม CiRA Core ซึ่ง TKK Corporation เพิ่งพัฒนาเมื่อไม่นานมามานี้ ภายใต้บริษัทในเครือที่ชื่อว่า บริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด เพื่อให้บริษัทต่างๆ มีโอกาสได้ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการต่อยอดธุรกิจ ในราคาที่จับต้องได้
บริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด หรือ “CiRA TECH” คือผู้พัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรม AI ด้วยการนำผลงานนวัตกรรมซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะระดับโลก จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. มาขยายผลและยกระดับภาคอุตสาหกรรม สร้างเป็นแพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทย ที่เรียกว่า “CiRA Core” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยทุกระดับตั้งแต่ขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ได้เข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย ในราคาแค่หลักหมื่นบาท
CiRA Core คือ เทคโนโลยี AI ด้าน Deep Learning หรือการเรียนรู้เชิงลึก เป็นเทคโนโลยีที่เลียนแบบเครือข่ายเซลล์ประสาทในสมองของมนุษย์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ จดจำ วิเคราะห์ แยกแยะ ตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การนำไปเชื่อมต่อกับเครื่องจักรเพื่อตรวจนับจำนวนสินค้า เช่น ในโรงงานผลิตท่อพีวีซี จากเดิมต้องมีพนักงานทำหน้าที่นับจำนวนท่อที่ผลิตหรือจัดส่ง เมื่อใช้แพลตฟอร์ม CiRA Core ก็สามารถนับสินค้าได้อย่างแม่นยำตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ สามารถโยกพนักงานไปทำงานสร้างสรรค์ที่ได้ประโยชน์มากกว่า แม้กระทั่งในภาคการเกษตร แพลตฟอร์ม CiRA Core ก็สามารถตั้งโปรแกรมคัดแยกคุณภาพผลไม้ได้อย่างแม่นยำ วิเคราะห์การดูแลรักษาหรือเก็บเกี่ยวในช่วงไหน อย่างไร
จึงไม่แปลกที่วันนี้ Cira Core ผลงานนวัตกรรมซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะจาก สจล. ที่ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดโดยบริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จะกลายเป็นนวัตกรรมยอดนิยมในภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว มีลูกค้าบริษัทชั้นนำต่างชาติมากมายใช้ซอฟต์แวร์ AI ปัญญาประดิษฐ์ของคนไทยนี้แล้ว อาทิ โตโยต้า, ฟอร์ด, ปูนซีเมนต์ไทย, ซีเกท เป็นต้น
และแน่นอนว่าลูกค้าอีกกลุ่มที่ TKK Corporation อยากให้มีโอกาสใช้แพลตฟอร์ม Cira Core ต่อยอดธุรกิจก็คือบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี นั่นเอง
“การเปิดโอกาสนั้นสำคัญที่สุด ทุกคนอาจมีต้นทุนไม่เท่ากัน แต่โอกาสจะสร้างให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน” นั่นคือจุดประสงค์ของ คุณกัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Cira Core
ได้เห็นความมุ่งมั่น ตั้งใจและหมุดหมายของ TKK Corporation ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Cira Core ก็ดีใจกับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ที่จะได้ใช้ซอฟต์แวร์ดี ราคาถูก คิดค้นและผลิตโดยคนไทย เพื่อช่วยในการปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการภายในโรงงาน ร้านค้า หรือสถานประกอบการให้เป็นไปอย่างราบรื่น เที่ยงตรง แม่นยำ ลดขั้นตอนและเพิ่มความรวดเร็วของกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ยกระดับความพึงพอใจของผู้บริโภค และเพิ่มผลิตภาพการผลิตของระบบเศรษฐกิจโดยรวม
จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 70% ในประเทศไทยยังมีระบบการผลิตอยู่ในระดับ 2.0 หรือ 2.5 คือเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นในกระบวนการผลิต ขณะที่บริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนในไทยได้ปรับกระบวนการผลิตไปสู่ระดับที่ 3 คือมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตมากขึ้น เช่นเดียวกับข้อมูลจาก A&B Associated ระบุว่าการผลิตได้เข้าสู่ยุคที่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานแทนคน มีการใช้ Barcode หรือ RFID ในการควบคุมสายพานการผลิตผ่านระบบ Network การตอบสนองของการสื่อสารที่ฉับไวขึ้นของระบบ 5G ทำให้สามารถสั่งงานเครื่องจักรได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว ถูกต้อง และ แม่นยำ
ขณะที่อนาคตแรงงานเริ่มเกิดภาวะขาดแคลน เนื่องจากการควบคุมการนำเข้า โดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย และนั่นอาจทำให้แรงงานในหลายอุตสาหกรรมขาดหายไปอย่างน่าสะพรึงกลัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น
นับจากนี้จึงขึ้นอยู่กับตัวผู้ประกอบการที่จะเปิดใจเข้าไปศึกษา เรียนรู้ และทดลองใช้แพลตฟอร์มเพื่อต่อลมหายใจธุรกิจให้อยู่รอดได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ข่าวจาก salika.co