การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติ ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาและผลิตบุคลากรให้เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง 10+2 S-curve ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความจริงข้อนี้ ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูที่หยิบมาเพื่อเป็นเพียงแค่หลักการ แต่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ เพื่อเป็น ต้นแบบการศึกษา ที่จะกลายไปเป็นโมเดลการปฏิรูปการศึกษาไทยในยุคนี้อย่างแท้จริง
โดยที่ผ่านมา มีการนำเสนอแนวทาง EEC Model ขึ้นมา เพื่อวางทิศทางการพัฒนาและผลิตบุคลากร ตอบสนองความต้องการใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรม ที่จะมาร่วมสร้างหลักสูตรผลิตบัณฑิตแต่ละด้านด้วยกัน เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่แต่ละภาคอุตสาหกรรมต้องการ
รับรู้ศักยภาพ วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มทร.ตะวันออก แหล่งสร้างวิศวกรนักปฏิบัติ และนวัตกรรมสุดล้ำป้อนภาคอุตสาหกรรมตัวจริง
เพื่อเดินหน้าตามข้อตกลงร่วมกัน เมื่อเร็วๆนี้ ทางผู้บริหารและทีมพนักงาน TKK Corporation CO.,LTD. นำโดย กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เดินทางมาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของทาง สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ มทร.ตะวันออก
โดยในโอกาสนี้มี อาจารย์ทัศพันธุ์ สุวรรณทัต หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ มทร.ตะวันออก บรรยายให้ทราบถึงที่มาของการเปิดหลักสูตรนี้ การเรียนการสอน และศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นงานบริการทางวิชาการของทางสาขาวิชาฯที่ผ่านมาว่า
“ที่มาของการเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ที่นี่ เกิดจากเสียงเรียกร้องของทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกนี้ เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เปิดเพิ่มขึ้นมาก เฉพาะในจังหวัดชลบุรี มี 5,400 โรงงาน ที่มีขนาดแตกต่างกันไป และส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์เป็นหลัก ส่วนจังหวัดระยองจะประมาณ 600 โรงงาน แต่จะเป็นโรงงานขนาดใหญ่เสียมากกว่า อย่าง โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี”
“เรียกได้ว่าที่เราเปิดหลักสูตรวิศวเมคคาทรอนิกส์ฯ นี้เพราะโรงงานอุตสาหกรรมเปิดอยู่ล้อมมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราตัดสินใจเปิดหลักสูตรนี้ ก็พบว่าเป็นไปตามข้อมูลที่ว่า เมื่อภาคอุตสาหกรรมเติบโตในพื้นที่ภาคตะวันออก ผู้ปกครองของเด็กก็เห็นว่าอาชีพวิศวกรโรงงานมีโอกาสเติบโต จึงต้องการส่งบุตรหลานมาเรียนด้านนี้ในสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ผู้ปกครองยุคนี้ไม่นิยมส่งลูกหลานไปเรียนไกลๆกันแล้ว”
“ส่วนเทรนด์การจ้างงานในโรงงาน แต่ก่อนจะจ้าง วิศวกรเครื่องกล 1 คน วิศวกรไฟฟ้า 1 คน วิศวกรระบบอุตสาหการ อีก 1 คน มาในระยะหลัง ทางโรงงานแสดงความต้องการมายังภาคการศึกษาซึ่งทำหน้าที่ผลิตบุคลากรว่า ขอให้ช่วยผลิตวิศวกรที่มีความสามารถครอบคลุมทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมา แบบมาในคนคนเดียวได้ไหม นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทาง มทร.ตะวันออก เลือกที่จะเปิดหลักสูตรวิศวเมคคาทรอนิกส์ฯ ซึ่งเป็นศาสตร์ของวิศวกรรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด”
“หลักสูตรนี้ เน้นสอนทักษะหลักให้นักศึกษา 3 ด้าน คือ ด้านเครื่องกล ผู้เรียนจะต้องเขียนแบบเครื่องกลเป็น มีวิชาชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เพื่อสอนให้ผู้เรียนสามารถออกแบบเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆได้ ดีไซน์เครื่องจักรขนาดเล็กได้ เครื่องจักร Automation ก็ต้องทำได้ ด้วยซอฟแวร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากค่ายผู้ผลิตหลากหลาย เพื่อเรียนรู้และทำงานได้จากซอฟแวร์ที่แตกต่าง”
“นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้จากเครื่องมือทันสมัย ที่ใช้เทคโนโลยีแห่งยุคอย่าง 3D Printer ทั้งไซส์เล็กและไซส์อุตสาหกรรม และประกอบแขนกลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ทดลองทำ AGV (Automated Guided Vehicle) หรือ รถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ โดยใช้แถบแม่เหล็ก วิชั่น หรือเลเซอร์ เป็นตัวบอกทิศทางให้กับรถเวลาเคลื่อนที่ เป็นต้น”
“ส่วนจุดเด่นที่ทำร่วมกับการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรอย่างที่กล่าวมาของหลักสูตร วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ที่นี่ และได้ทำอย่างต่อเนื่องมาเป็น 10 ปี แล้ว คือ เรามีความร่วมมือกับทางภาคอุตสาหกรรมมากมาย เราสามารถพูดได้ว่าที่นี่มีการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมหาวิทยาลัยของเราตั้งอยู่กลางดงอุตสาหกรรมนั่นเอง”
“ขณะเดียวกัน เราได้รับภารกิจในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทำให้ต้องออกให้บริการวิชาการแก่ภาคอุตสาหกรรมด้วย”
“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ที่สาขาวิชาของเรามีความเข้มแข็ง ส่วนหนึ่งก็เพราะการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่นี้อย่างเข้มข้น ในรูปแบบของการลงไปบริการวิชาการตั้งแต่ลงให้คำแนะนำแก่ภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึึงสร้างและปรับเอาระบบ Automation มาใช้ในโรงงาน ซึ่งเราจะนำนักศึกษาของเราไปเรียนรู้ร่วมด้วย”
“อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรีส่วนใหญ่ จะทำเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การลงพื้นที่ไปให้บริการวิชาการ จะเป็นในรูปแบบของการที่โรงงานอุตสาหกรรมติดต่อมาที่สาขาวิชาฯ เพื่อบอกความต้องการหรือปัญหาในการผลิตที่อยากให้บุคลากรของทางมหาวิทยาลัยฯไปช่วยให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา พร้อมทั้งช่วยผลิตเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักร ติดตั้งระบบ Automation หรือเขียนโปรแกรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน การผลิตในโรงงานให้”
“โดยระบบหรือนวัตกรรมที่ทางสาขาวิชาฯได้ไปติดตั้งให้นั้น ก็ได้รับการยอมรับไม่ใช่แค่ในโรงงานประเทศไทย แต่บ่อยครั้งที่ผู้บริหารในบริษัทแม่ของโรงงานนั้น อย่างผู้บริหาร Toshiba ชาวญี่ปุ่น ได้มาเห็นการทำงานของระบบออโตเมชั่น แขนกล หุ่นยนต์ ที่เราได้ไปสร้างให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในไทย และชื่นชอบ ให้การยอมรับว่ามีประสิทธิภาพจริง กระทั่งได้สั่งให้ผลิตเพิ่มเติมทั้งเพื่อไปติดตั้งในโรงงานสาขาแห่งอื่น ในประเทศอื่น และให้เราเพิ่มคุณสมบัติเข้าไป ซึ่งก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันไปด้วย”
รู้จัก TKK Corporation พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ สร้าง ต้นแบบการศึกษา ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ
ในโอกาสนี้ กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้มาเล่าให้ฟังในมุมของ TKK Corporation CO.,LTD. บริษัท ที่เริ่มต้นมาจากธุรกิจ SME ขนาดกลาง จนมาในวันนี้ได้พัฒนากิจการและก้าวสู่ผู้นำในภาคอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ระดับโลกที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ เพื่อนำมาใช้ในระบบควบคุมการผลิตอัตโนมัติในโรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ
โดย ประวัติแบบย่อๆของทาง TKK Corporation CO.,LTD. คือ เป็นบริษัทจดทะเบียนเมื่อปี 2004 โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 117 ล้านบาท มีสต็อคอยู่ที่ 30 ล้านบาท มียอดขายที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้อยู่ที่ 800 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ ผ่านไตรมาศแรกมา ซีอีโอ TKK Corporation ยืนยันว่า ยอดขายต่ำกว่าเป้าแค่เล็กน้อยเท่านั้น
และที่ผ่านมาทาง TKK Corporation CO.,LTD. ได้ก่อตั้ง บริษัทในเครือ คือ KSI Solution เพื่อนำเสนอบริการในรูปแบบของ ENGINEERING SOLUTION รับบริการออกแบบ ให้คำแนะนำ ผลิต พร้อมติดตั้ง Robot Application และระบบงานด้านวิศวกรรมสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทด้วย
ความโดดเด่นสำคัญ ที่เมื่อได้ทราบแล้วทำให้รู้สึกทึ่งและชื่นชมแนวคิดการบริหารบริษัทของผู้บริหารหญิงแกร่งท่านนี้อย่างมากนั่นคือ การที่ในปัจจุบัน บริษัท TKK Corporation และบริษัทในเครือ มีพนักงานอยู่ทั้งหมดเพียง 90 คน เท่านั้น กับการดำเนินกิจการที่ก่อให้เกิดมูลค่ามหาศาลเช่นนี้
“เราคิดว่าต่อไป แม้มีพนักงานลาออก เราก็ไม่จำเป็นต้องรับพนักงานใหม่แล้ว เพราะเราใช้ระบบ RPA หรือ Robot processing automation ทุกๆแผนกใน TKK ตอนนี้ ทำงานด้วยหลักการใช้ Robot เช่น แผนกบัญชี ไม่จำเป็นต้องลงบัญชีเอง ไม่ต้องทำใบ invoice เอง เพราะโรบอตทำให้เสร็จสรรพ”
“ดังนั้น ถ้ายอดขายเราอยู่ที่พันล้าน และมีพนักงานอยู่ที่ 90 คน เราถือว่า Turnover per head ของเรา อยู่ในค่าที่น่าสนใจ และมีศักยภาพในการแข่งขัน หรือ มี Competitive สูงมาก เมื่อเทียบกับบริษัทต่างชาติ ต่อไปเราก็จะพยายามรักษามาตรฐานตรงนี้ ทำให้ต้นทุนหรือภาระต่ำที่สุด เพื่อให้เรามีขีดความสามารถที่ทัดเทียมกับบริษัทต่างชาติให้ได้”
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่กล่าวมา นับเป็นต้นทุนสำคัญ ที่ กัลยาณี ตั้งใจนำมาต่อยอดสร้าง ต้นแบบการศึกษา ร่วมกับทาง สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ มทร.ตะวันออก เพื่อร่วมมือกันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ร่วมกัน
“ถ้าพูดถึงธุรกิจแห่งอนาคต เราเห็นตรงกันกับทางอาจารย์ทัศพันธุ์ ว่า นวัตกรรมที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่าง AGV หรือ ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ Automated Mobile Robots (AMR) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีและวิทยาการล้ำหน้าในภาคอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จะเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแน่นอน”
“ดังนั้น นอกจากการปรับเอาเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพในโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว การพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะและความชำนาญทั้งในการผลิตนวัตกรรมและการควบคุม ใช้งาน นวัตกรรมเหล่านี้ ย่อมเป็นภารกิจที่ต้องทำร่วมกันไปแบบคู่ขนาน”
“นี่จึงเชื่อมมายังภารกิจของ EEC HDC ที่เป็นเหมือนเจ้าภาพหลักทางฝั่งของ EEC ที่มีหน้าที่วางนโยบายการผลิตและพัฒนาบุคลากรตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ซึ่งล่าสุด ได้จัดตั้งคณะกรรมการ EEC Industry Forum ขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างภาคเอกชน ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ที่จะมาร่วมมือกับภาคสถาบันการศึกษา มาพิชิตภารกิจการผลิตและพัฒนาบุคลากรร่วมกัน เพื่อให้ได้กำลังคนคุณภาพมาร่วมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวหน้าต่อไป”
โดย ซีอีโอหญิงแกร่งของ TKK Corporation ได้พูดถึงอีกนวัตกรรมหนึ่งที่เป็นตัวละครหลัก ของ ธุรกิจแห่งอนาคต ในอุตสาหกรรมภาคอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ นั่นคือ เทคโนโลยี AGV รถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ
“วันนี้ เราได้เห็น ทั้งรถ AGV ที่เป็นผลงานของคณาจารย์และนักศึกษา มทร.ตะวันออก ซึ่งเมื่อเราได้มาเห็นก็รู้สึกทึ่งเลยว่า เด็กไทยเราเก่งจริงๆที่สามารถสร้างต้นแบบรถ AGV ขึ้นมา โดยสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและในราคาต้นทุนการผลิตที่ไม่แพงเลย”
“ขณะที่ ทาง KSI Solution ก็ได้นำ หุ่นยนต์ ที่ใช้เทคโนโลยี AGV มาให้ทางคณาจารย์ได้ชมเช่นกัน ซึ่ง AGV ของทางเราก็ได้พัฒนาขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยเป็นหุ่นยนต์ที่จะนำไปใช้ในวอร์ดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง และรถหุ่นยนต์ AGV จะทำหน้าที่บริการทางการแพทย์บางอย่างแทนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเราตั้งใจผลิตขึ้นเพื่อถวายให้กับ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และพระองค์ก็จะพระราชทานต่อให้กับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ต่อไป”
“นอกจากนั้น เราเห็นแนวโน้มชัดเจนเลยว่าหลังวิกฤตโควิด-19 หุ่นยนต์ในลักษณะของ รถ AGV ที่เราทำขึ้นนี้ จะค่อยๆมาช่วยงานหรือมาทำงานแทนบุคลากรทางการแพทย์อย่างแน่นอน เพราะการใช้งานหุ่นยนต์เหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ได้นั่นเอง”
“ดังนั้น บุคลากรที่จะมาทำงานในภาคอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จึงจะยิ่งเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น เพราะดีมานด์หุ่นยนต์ในรูปแบบของ AGV ที่เพิ่มขึ้นในวงการแพทย์ หรือ Medical Industry จากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้นี่เอง”
“โดยล่าสุด ทาง KSI Solution ไม่ได้หยุดการพัฒนาและนำเสนอแค่เทคโนโลยี AGV เท่านั้น เพราะ AGV มีข้อจำกัดตรงที่ต้องเดินตามเส้นแถบแม่เหล็กและใช้รีโมตคอนโทรลบังคับ เราจึงสนใจพัฒนาห่นยนต์จากเทคโนโลยี AMR อย่างที่เกริ่นมาข้างต้น”
“ทั้งนี้ เรากำลังจะทำสร้าง AMR ให้กับ EEC Medical Hub โรงพยาบาลใหม่ในพื้นที่ EEC คือ โรคพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ซึ่งมีคอนเซปคือ Digital Hospital คือทุกอย่างในโรงพยาบาลจะรันด้วยเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หรือ Automation และหุ่นยนต์ โดย AMR จะทำหน้าที่เป็นหุ่นยนต์ขนส่งยา ขนส่งผ้า จัดยา และประสิทธิภาพสุดล้ำคือ สามารถขึ้นลิฟต์ได้ โดยฝช้เทคโนโลยี 5G มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ AMR”
“และสิ่งประดิษฐ์ล่าสุดที่คิดค้นโดย KSI Solution นั่นคือ AMR Apollo หุ่นยนต์ตัวนี้ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์สแกนเนอร์ ใช้ GPS พิกัด ซึ่งทำให้หุ่นยนต์มีความแม่นยำสูง แค่มี Floor plan ของสถานที่ต่างๆ และใช้ 5G เป็นตัวเชื่อมสัญญาณ”
“สำหรับหุ่นยนต์ AMR Apollo นี้ เราคาดว่าจะนำมาให้ทางสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ของทาง มทร.ตะวันออก เพื่อให้นักศึกษาในหลักสูตรนี้ได้ใช้ประกอบการศึกษา หลังจากที่เราได้เซ็น MOU ความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรร่วมกันแล้ว ขณะเดียวกัน ทางเราก็หวังว่า จะให้ทางสาขาวิชาฯวิจัยและพัฒนาต่อ เพื่อให้สามารถผลิต AMR นี้ได้ในต้นทุนที่ถูกลงมาอีกได้”
ต่อมา ทาง TKK Corporation ยังได้มองถึงการพัฒนาหลักสูตรใหม่ร่วมกัน ระหว่างทางบริษัทฯ และทางสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ มทร.ตะวันออก โดย กัลยาณี ได้ยกตัวอย่าง เทคโนโลยีหนึ่งที่กำลังมาแรง นั่นคือ WMS หรือ Warehouse Management System ในรูปแบบของ คลังสินค้าอัจฉริยะ โดยใช้ระบบราง ระบบการเลื่อน และโปรแกรมมิงระบบการจัดเก็บให้ตรงตามหลัก Warehousing ซึ่งก็ใช้หลักการทางด้านวิศวเมคคาทรอนิกส์ฯ ที่นักศึกษาได้เรียนมานั่นเอง
“การติดตั้งระบบ WMS ทั้งระบบ ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 200 ล้าน แต่ดิฉันเชื่อมั่นว่าคนไทยมีฝีมือทำได้ในราคาถูกกว่านี้อยู่แล้ว ที่ยากที่สุดคงเป็นแค่ในเรื่องของโปรแกรมควบคุมระบบ”
“เหมือนการผลิต AGV ถ้าใช้เทคโนโลยีและวัสดุจากญี่ปุ่นแท้ๆ ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 800,000-1,200,000 บาท แต่พอมาเป็น AGV ที่ทางคณาจารย์และนักศึกษา มทร.ตะวันออก ผลิต ต้นทุนลดต่ำลงมาอยู่ที่ 110,000 บาทเท่านั้น นี่เป็นเรื่องน่าทึ่ง และเป็นบทพิสูจน์ว่า คนไทยเราก็เก่งไม่แพ้ชาติอื่นเลย”
แชร์มุมมอง ซีอีโอ TKK Corporation กับ บุคลากรวิศวะในฝัน ที่ทุกสถานประกอบการอยากได้
ในตอนท้ายของการบรรยาย กัลยาณี ย้ำว่า สิ่งที่เธอคาดหวังจากความร่วมมือกับ มทร.ตะวันออกในครั้งนี้ คือ การสร้างบุคลากรด้านวิศวเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ที่ไม่ได้แค่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรมเท่านั้น แต่ในฐานะสถานประกอบการ อยากถ่ายทอดทักษะครบทุกมิติ
ตั้งแต่ขั้นตอนการให้คำแนะนำลูกค้า การออกแบบ คิดค้นโซลูชันด้วยเทคโนโลยีระบบออโตเมชัน หุ่นยนต์ ให้ตอบโจทย์ลูกค้า ไปจนถึงขั้นตอนของการติดตั้ง การบริการหลังการขายให้ลูกค้า ซึ่งเธอเชื่อมั่นว่า ถ้าทำได้ ย่อมจะเป็นการสร้างนิยามใหม่ให้กับการผลิตบุคลากรคุณภาพ และยังเป็นการทำให้สังคมได้ฉุกคิดว่า ควรปฏิรูปแนวคิดการศึกษาไทย ให้หันมาให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้นด้วย
โดยหลักสูตรที่ทาง TKK Corporation และ KSI Solution ได้แนะนำและวางแผนว่าจะพัฒนาเป็น ต้นแบบการศึกษา ร่วมกับทาง มทร.ตะวันออก ต่อไปในอนาคต คือ
- Programmable Logic Controller (PLC)
- 3D Camera Vision System
- Robot control
- Autonomous Mobile Robots (AMR)
- Automated Storage and Retrieval Systems (AS/RS)
- Big data and Artificial Intelligence
ข่าวจาก salika.co