หากอ้างอิงตามข้อมูลจาก IFR – International Federation of Robotics ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติล่าสุดมาในปี 2023 ว่าอัตราการใช้งานหุ่นยนต์ภายในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ได้กระโดดขึ้นสู่สถิติใหม่เป็นที่เรียบร้อย ด้วยจำนวนการใช้งานกว่า 1 ล้านยูนิต การใช้งานในจำนวนนี้ถือเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั้งหมดที่มีการติดตั้งภายในอุตสาหกรรมรอบโลกเลยทีเดียว
สำหรับประเทศที่มีอัตราการใช้งานหุ่นยนต์มากที่สุดเมื่อเทียบกับพนักงานจำนวน 10,000 คนนั้น ก็ได้แก่ประเทศเกาหลีที่มีการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอยู่ที่ 2,867 ยูนิตต่อแรงงาน 10,000 คน ตามมาด้วยประเทศเยอรมนีที่ 1,500 ยูนิต สหรัฐอเมริกาที่ 1,457 ยูนิต ญี่ปุ่น 1,422 ยูนิต และจีนที่ 722 ยูนิต
ขณะที่ ในภาคการลงทุน BOI เผยตัวเลขคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 ที่ผ่านมาว่าตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 234 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 86 และมีเงินลงทุน 15,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ทันสมัยและนำระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สอดรับกับสังคมผู้สูงวัย รองลงมาคือ การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนหรือการประหยัดพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการลดคาร์บอนของโลก
ข้อเท็จจริงที่สื่อออกมาด้วยตัวเลขทางสถิติที่หยิบยกมานี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทยและในระดับโลกที่มีแนวโน้มสดใสอย่างเห็นได้ชัด และอัตราการเติบโตนี้เองที่สะท้อนว่าทุกฝ่ายต้องเตรียมความพร้อมรับโอกาสนี้ โดยเฉพาะในภาคการศึกษาที่ต้องผลิตบุคลากรให้ทันต่อการเติบโตในด้านนี้
โดยนอกจากการปรับหลักสูตรให้ทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแล้ว การจะพัฒนาศักยภาพการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความร่วมมือกับทางสถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรม เพื่อมาสนับสนุนและเติมเต็มสิ่งที่สถาบันการศึกษายังคงขาดพร่อง เช่น หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย ใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ให้นักศึกษาได้มาเรียนรู้ ตลอดจนการได้วิทยากรที่เป็นพนักงานผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมมาแบ่งปันประสบการณ์การทำงานกับนักศึกษา ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเห็นภาพการทำงานจริงเมื่อพวกเขาเรียนจบไปด้วย
ด้วยความตระหนักในความร่วมมือที่จะต่อยอดสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับภาคการศึกษาไทยนี้ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TKK Corporation Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย ที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาเป็นเวลานาน ได้จับมือกับ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) ลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคการศึกษาร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการลงนามครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการร่วมพัฒนาภาคการศึกษาไทยที่จะก่อให้เกิดคุณูปการอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการศึกษาและการผลิตกำลังคนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น กับความมุ่งมั่นในการสร้างความพร้อมให้ภาคการศึกษาไทย ผลิตบุคลากรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม
ก่อนจะถึงพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กัลยาณี คงสมจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้กล่าวแนวคิดสำคัญในเวทีเสวนาเรื่อง “การพัฒนาคนเพื่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21” ว่า
“ทีเคเค เป็นบริษัทของคนไทย ก่อตั้งโดยคนไทย และเราอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมที่ผลิตและเป็นตัวแทนจำหน่ายทั้งหุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม หุ่นยนต์บริการ ตลอดจน AI และระบบอัตโนมัติต่างๆ ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆมาระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งตลอดเวลาที่ประกอบธุรกิจในด้านนี้มา ก็จะเห็นการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่รวดเร็วและสดใส โดยเฉพาะในส่วนของหุ่นยนต์บริการ ที่ในยุคนี้ในธุรกิจบริการ ธุรกิจร้านอาหารใช้กันมาก โดย บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ก็เป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ที่ใช้ในการเสิร์ฟอาหารให้กับ MK Restaurant”
“ทั้งนี้ จากการนำหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารไปใช้ที่ MK Restaurant ทุกสาขาทั่วประเทศ ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ทั้งจากผู้บริหาร และพนักงานเสิร์ฟที่ร้านเอง เพราะการใช้หุ่นยนต์นี้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระพนักงานเสิร์ฟไปได้มาก และพวกเขาก็มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องถือของหนักเพื่อเสิร์ฟอาหารตลอดเวลา ซึ่งส่งผลดีกับการให้บริการที่ดี มีคุณภาพมากขึ้น”
“ที่กล่าวมานี้เพื่ออยากให้เห็นภาพว่าโลกการทำงานได้เปลี่ยนไปแล้ว เป็นการทำงานที่อาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น โดยมนุษย์เรามีหน้าที่ในการควบคุม บริหารจัดการเทคโนโลยีนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแน่นอนว่าน้องๆ นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ในตอนนี้ ก็จะเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคต ที่จะไม่ได้คิดแค่ว่าจะออกแบบ ผลิต สิ่งเดิมๆ ที่ใช้งานกันอยู่เท่านั้น แต่เราจะออกแบบนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำให้ผู้ใช้งานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย”
“โดยในกระบวนการคิดนั้น เราจะคิดตั้งแต่ต้นน้ำ เรื่องการเลือกวัสดุ ว่าจะใช้วัสดุอะไรที่คงทน แข็งแรง แต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วออกแบบอย่างไรจึงจะสวยงามด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมาก เป็นต้น”
“ยิ่งถ้าน้องๆ นักศึกษาจบไป แล้วได้เป็นวิศวกรผู้ออกแบบหุ่นยนต์ ก็อยากจะย้ำว่า ตอนนี้ หุ่นยนต์ เป็นสิ่งที่ไม่ไกลตัว และต่อจากนี้ไปเราจะเห็นหุ่นยนต์รูปแบบต่างๆ ทั้ง หุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์ต้อนรับ หุ่นยนต์ รปภ. ซึ่งจะกระจายกันอยู่ในสนามบิน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และต่อไปแน่นอนกว่ากระแส COBOT คือหุ่นยนต์และคนทำงานร่วมกัน จะมาแรงจนเป็นกระแสหลัก ดังนั้น น้องๆ นักศึกษาทุกคนจึงต้องเตรียมทักษะให้พร้อมในการรับโอกาสที่เกิดขึ้นจากเทรนด์นี้ด้วย”
จากนั้น ในพิธีลงนามความร่วมมือ คุณกัลยาณี ได้กล่าวถึงความตั้งใจของ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น และวัตถุประสงค์ของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้กับ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ว่า
“บันทึกความตกลงความร่วมมือในงานวิชาการและการบริการทางวิชาการในวันนี้ เป็นความร่วมมือที่มีวัตถุประสงค์ใน 4 ส่วนหลัก
“เรื่องแรกจะเกี่ยวข้องกับความตั้งใจของทาง ทีเคเค เอง ที่ต้องการสนับสนุนในด้านของ วัสดุ อุปกรณ์ อะไหล่ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น”
“เรื่องที่สอง คือ การมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เรียนดี และมีความประสงค์ที่จะศึกษา เมื่อจบไปก็จะไปทำงานเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวต่อ โดยการศึกษาต่อนี้เป็นการศึกษาต่อในด้าน เอไอ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ”
“เรื่องที่สาม คือ การให้ความสนับสนุนในการรับนักศึกษาฝึกงานในโครงการสหกิจศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าไปสู่กระบวนการทำงานจริงที่เกิดขึ้น โดยทางบริษัท ทีเคเคฯ ก็มีความพร้อมในฐานะผู้นำด้านการประกอบธุรกิจ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และเรามีฐานลูกค้าที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในฐานอุตสาหกรรมการผลิตเป็นส่วนใหญ่ เราจึงมั่นใจว่า จะทำให้นักศึกษาเห็นภาพที่ตรงกันนี้ได้”
“และเรื่องสำคัญสุดท้าย เรามองว่า ภาคเอกชนจะสามารถสนับสนุนภาคการศึกษาได้ คือ การร่วมมือกันออกแบบหลักสูตร ที่เป็นหลักสูตรเฉพาะ หรือ หลักสูตรใหม่ๆ ที่ทันสมัย ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งนักศึกษาก็สามารถนำเอาไปใช้ในการทำงานได้จริง”
สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น พร้อมตอบรับ สานต่อความร่วมมือให้เป็นต้นแบบ การผลิตกำลังคนวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีทักษะทันสมัยตอบรับ Industry 4.0
ด้าน รศ.รังสรรค์ เลิศในสัตย์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) ได้กล่าวในโอกาสลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ว่า
“สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน โดยเฉพาะบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มีทักษะความรู้ ความสามารถ ทั้งตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย อย่าง การปรับเอาระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เอไอ มาใช้ในการกระบวนการผลิตในยุคนี้”
“ดังนั้นความร่วมมือกับทาง บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ในครั้งนี้ จึงเป็นความร่วมมือที่ดีที่จะสานต่อสู่การผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ นอกจากนั้น ยังช่วยให้ทางสถาบันฯของเราสามารถพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน ที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย”
“และทาง สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เอง ก็ยังมีส่วนงานในด้านการให้บริการทางวิชาการ ซึ่งจากความร่วมมือในวันนี้ ย่อมเป็นการเปิดประตูสู่การนำเอาเทคโนโลยี ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่นำมาให้นักศึกษาของเราเท่านั้น แต่ทางสถาบันฯจะนำไปขยายผล เพื่อสร้างประโยชน์ในการอบรม เพิ่มทักษะกับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ให้พวกเขามีทักษะที่ก้าวทันกับเทคโนโลยีด้าน หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เอไอ ที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ดังนั้น ในวันนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งวันที่ทาง สถาบันฯ มีความยินดีอย่างยิ่งที่เกิดความร่วมมือดีๆ นี้ขึ้น”
ทั้งนี้ รศ.อัญชลี สุพิทักษ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
“คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เปิดทำการเรียนการสอนพร้อมกับการก่อตั้ง สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เราได้ผลิตบุคลากรวิศวกรรมศาสตร์สู่ตลาดแรงงานมา 16 ปีแล้ว โดยในแต่ละปีจะมีบัณฑิตที่จบการศึกษาออกไปประมาณ 200-300 คน โดยมีการเปิดสอนในสาขา วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมอุตสาหการ และวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งแทบทุกสาขาที่เราเปิดสอน ก็มีความเกี่ยวข้องตรงกันพอดี กับความเชี่ยวชาญทางธุรกิจที่ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีความชำนาญอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งภาคบริการและในโรงงานอุตสาหกรรม”
“และที่ผ่านมา เมื่อนักศึกษาของเราจบไป ส่วนใหญ่ก็จะไปทำงานกับทางบริษัทญี่ปุ่น หรือบริษัท ไทย-ญี่ปุ่น เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีจำนวนไม่น้อยที่ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตรงจุดนี้ทาง ทีเคเค ก็เป็นตัวแทนจำหน่าย หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ของบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมาก นี่เองจึงนำมาซึ่งความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษา บริการวิชาการ ร่วมกัน ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด”
“โดยทางสถาบันฯ ได้ขอความร่วมมือและการสนับสนุนจาก ทีเคเค ในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะเราตระหนักดีว่า ในยุคนี้การทำการสอน จะเป็นการสอนแบบเดิมในห้องเรียนผ่านความรู้ทางทฤษฎีอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องมีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ หรือแม้กระทั่งโปรแกรมเอไอ ที่ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมมาประกอบในการเรียนการสอนด้วย แต่ต้องยอมรับว่าเครื่องไม้เครื่องมือ โดยเฉพาะที่เป็นหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ก็มีราคาสูง ดังนั้น การได้รับความอนุเคราะห์ส่งเครื่องมือเหล่านี้มาให้ ย่อมมีส่วนในการช่วยทางสถาบันฯได้อย่างมากทีเดียว”
“นอกจากนั้น ทาง ทีเคเค ยังตอบรับในเรื่องของการมาร่วมพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมถึงจะได้ส่งวิทยากรที่เป็นพนักงานผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสอน แบ่งปันประสบการณ์กับนักศึกษาเราด้วย ตลอดจนในอนาคตเราจะมีการจัดหลักสูตรเทียบโอน เสาร์-อาทิตย์ เพื่ออบรมทักษะจำเป็นให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบของการ Upskill Reskill พนักงานเหล่านี้ ทาง ทีเคเค ก็พร้อมส่งวิทยากรมาร่วมอบรมให้เราด้วย”
“ดังนั้น การสนับสนุนของ ทีเคเค จะเข้ามามีส่วนช่วยเสริมให้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของเรา สามารถผลิตบุคลากรที่มีทักษะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ หรือ Industry 4.0 ได้จริง นักศึกษาจะเห็นภาพและได้เรียนรู้ในสถานการณ์จริงที่เขาจะได้ไปเจอในการทำงานเมื่อเขาเรียนจบ และทางทีเคเคยังตอบรับให้นักศึกษาของเราไปฝึกงานในบริษัทได้ด้วย นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เปิดกว้างให้กับนักศึกษาได้ไปเรียนรู้ทักษะในการทำงานจริงในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย”
ข่าวจาก salika.co